ผู้นำ Cashless ที่แท้ทรู ผลสำรวจชี้นักท่องเที่ยวจีนนิยมชำระเงินผ่านมือถือแซงหน้าการใช้เงินสด

28/01/2019

จากรายงานการสำรวจแนวโน้มการชำระเงินผ่านมือถือระหว่างการท่องเที่ยวในต่างประเทศของชาวจีนประจำปี 2561หรือ 2018 trends of Chinese mobile payment in outbound tourism พบว่า นักท่องเที่ยวชาวจีนใช้การชำระเงินผ่านมือถือเพื่อทำธุรกรรมต่าง ๆ ขณะท่องเที่ยวแซงหน้าการใช้เงินสดแล้ว

ผลสำรวจดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่าง นีลเส็น (Nielsen) กับอาลีเพย์ (Alipay) สำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 2,800 คน และผู้ค้าในต่างประเทศกว่า 1,200 ราย โดยพบว่า การเดินทางไปต่างประเทศครั้งล่าสุด นักท่องเที่ยวชาวจีนใช้การชำระเงินผ่านมือถือเพื่อทำธุรกรรมราว 32% ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สัดส่วนของการชำระเงินผ่านมือถือแซงหน้าเงินสด

นอกจากจะเพิ่มความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนแล้ว วิธีการชำระเงินผ่านมือถือยังช่วยปรับปรุงการดำเนินงานของผู้ค้าในต่างประเทศอีกด้วย โดย 58% ของผู้ค้าที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า หลังจากที่เปิดให้บริการรับชำระเงินผ่านอาลีเพย์ลูกค้าที่เดินเข้าร้าน (foot traffic) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ 56% เปิดเผยว่า ยอดขายเพิ่มสูงขึ้น

การสำรวจครั้งนี้ ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ

– นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในปี 2561 เฉลี่ยแล้วผู้ตอบแบบสอบถามเยี่ยมชมประเทศ/ภูมิภาค 2.8 แห่ง จาก 2.1 แห่งในปี 2560 ทั้งยอดใช้จ่ายจริงโดยเฉลี่ยและงบประมาณสำหรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางไปต่างประเทศเพิ่มขึ้นแบบปีต่อปี ส่วนงบประมาณที่ตั้งไว้สำหรับการเดินทางเพิ่มขึ้น 15% เป็น 6,706 ดอลลาร์ (ประมาณ 214,592 บาท) และยอดใช้จ่ายจริงเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 6% เป็น 6,026 ดอลลาร์ (ประมาณ 192,832 บาท)

– การใช้จ่ายในส่วนของช้อปปิ้ง ค่าที่พัก และค่าอาหาร ยังคงเป็น 3 หมวดหมู่อันดับสูงสุดสำหรับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่ส่วนลด คุณภาพ และราคา เป็น 3 ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของนักท่องเที่ยวชาวจีน

– นักท่องเที่ยวชาวจีนจากเมืองรอง (Second-tier cities) กลายเป็นแรงขับเคลื่อนใหม่ที่สำคัญในตลาดการท่องเที่ยวต่างประเทศของจีน โดย 38% ของนักท่องเที่ยวจากเมืองรองเดินทางไปยุโรปในปี 2561 แซงหน้าสัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามจากเมืองหลัก (First-tier cities) เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ 22% ของนักท่องเที่ยวจากเมืองรองเดินทางไปเที่ยวอเมริกาเหนือ โดยสัดส่วนใกล้เคียงกับนักท่องเที่ยวชาวจีนจากเมืองหลัก

– นักท่องเที่ยวชาวจีนเลือกจุดหมายการเดินทางที่ออกแนวผจญภัยเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2561 ราว 10% ของนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางไปเที่ยวภูมิภาคเอเชียกลาง,เอเชียตะวันตกและแอฟริกา ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อนหน้า ขณะที่คนรุ่นมิลเลนเนียล (Millennials) ของจีนเป็นผู้นำเทรนด์ในการเลือกจุดหมายปลายทางที่แปลกใหม่ โดย 18% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เกิดระหว่างปี 2533- 2542 เดินทางไปยังเอเชียกลางและตะวันตก รวมถึงแอฟริกา ขณะที่ 5% เดินทางไปยังประเทศแถบนอร์ดิก

– คนรุ่นมิลเลนเนียลของจีนไม่ได้เป็นผู้ใช้กลุ่มใหญ่ที่สุดที่ใช้การชำระเงินผ่านมือถือในต่างประเทศอีกต่อไป เพราะคน Gen X กำลังก้าวตามมาติดๆ โดย 68% ของนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เกิดในช่วงปี 2513- 2522 ใช้วิธีการชำระเงินผ่านมือถือขณะที่เดินทางไปต่างประเทศในปี 2561 เกือบเท่ากับเปอร์เซ็นต์ของชาวจีนรุ่นมิลเลนเนียล

– ปัจจุบันนักท่องเที่ยวชาวจีนใช้การชำระเงินผ่านมือถือในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยในปี 2561 กว่า 60% ของนักท่องเที่ยวชาวจีนทำการชำระเงินด้วยโทรศัพท์มือถือในประเทศและภูมิภาคต่างๆ ตั้งแต่สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ไปจนถึงยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ขณะที่ 90% ของผู้ค้าที่ตอบแบบสอบถามในสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย รายงานว่า พบเจอลูกค้าชาวจีนที่สอบถามว่าทางร้านเปิดรับชำระเงินผ่านมือถือหรือไม่

– วิธีการชำระเงินผ่านมือถือนอกจากเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าชาวจีนแล้ว ยังช่วยเพิ่มยอดขายให้กับผู้ค้าในท้องถิ่นอีกด้วย โดย 71% ของผู้ค้าที่เปิดรับชำระเงินผ่านอาลีเพย์ระบุว่า ตนเองมีแนวโน้มที่จะแนะนำอาลีเพย์ให้แก่ผู้ค้ารายอื่นๆ

– การชำระเงินผ่านมือถือของนักท่องเที่ยวชาวจีนในต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ค้ามีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับแพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านมือถือของจีน ส่งผลให้ผู้ค้าในต่างประเทศยินดีที่จะปรับใช้โซลูชั่นการชำระเงินผ่านมือถือของจีนเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

โดยข้อมูลจากผู้ค้าในสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทยชี้ว่า 60% ของผู้ค้าที่ใช้แพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านมือถือของจีนในปัจจุบันมีแนวโน้มว่า จะแนะนำวิธีการชำระเงินดังกล่าวให้แก่ผู้ค้ารายอื่นๆ ส่วนในบรรดาผู้ค้าที่ยังไม่ได้เปิดรับชำระเงินผ่านมือถือ 55% มีแนวโน้มอย่างมากว่าจะปรับใช้โซลูชั่นการชำระเงินผ่านมือถือของจีนในอนาคต

TOP